หากคุณกำลังอยากเริ่มต้นเล่นกีฬาสุดเท่อย่าง “บาสเกตบอล” กีฬาชนิดนี้ไม่ได้ง่าย อย่างที่หลายคนปรามาสเอาไว้ การโยนลูกให้ลงห่วงดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่แม้จะไม่มีทักษะก็ทำได้ “แต่คุณได้ลองมันหรือยังล่ะ ?” หากคุณเริ่มต้นเล่นบาสเกตบอลมาได้สักระยะ คุณจะเริ่มมีความเข้าใจแล้วว่า การทำให้ลูกบอลลงห่วงนั้นคือสิ่งที่ง่ายที่สุดในกีฬานี้ เพราะความท้าทายจริง ๆ อยู่ที่ขั้นตอนที่คุณจะลำเลียงบอลให้เข้าไปอยู่ในห่วงนั้นเอง ซึ่งบทความนี้เราจะมาแนะนำเรื่องราวเบสิกของการเล่นบาสเกตบอล จะเป็นเรื่องน่าสนใจแค่ไหน ไปชมกันเลย
5 ตำแหน่งของผู้เล่นในกีฬาบาสเกตบอล
เริ่มต้นเราต้องขอกล่าวถึงเรื่องของ “ตำแหน่งผู้เล่น” กีฬาบาสเกตบอลก็เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ ที่เล่นเป็นทีม ในทีมจะมีผู้เล่นที่มีความชำนาญแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ทีมสมบูรณ์มากที่สุดทางด้านของความสามารถ เปรียบเสมือนกับกีฬาฟุตบอลที่จะต้องมีคนที่ทำประตูเก่ง ป้องกันเก่ง จ่ายบอลเก่ง ป้องกันประตูเก่ง เพียงแต่บาสจะไม่มีข้อแม้มากนัก ทุกคนใช้กติกาเดียวกัน อยู่บนสนามเดียวกัน สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างกันก็คือ “ทักษะเฉพาะตัว” นั่นเอง โดยตำแหน่งในกีฬาบาสเกตบอล แบ่งได้ 5 ชนิดหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1. Point guard (PG)
เริ่มต้นที่ตำแหน่งที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะของเกม Point guard เป็นตำแหน่งที่เน้นไปทางด้านการรักษาสมดุลของทีม มักจะรับบทบาทเป็นผู้ครอบครองบอล ทำหน้าที่จ่ายบอลให้เพื่อนทำแต้ม อาจทำแต้มเองได้บ้างในพื้นที่บริเวณกรอบ 3 แต้ม ทักษะของผู้เล่นที่จะต้องเล่นในตำแหน่งนี้จะต้องเลี้ยงบอลคล่องแคล่ว ไปกับบอลได้ดี จ่ายบอลดี วิเคราะห์เกมได้เฉียบขาด และควรทำแต้มในตำแหน่งระยะกลาง-ไกลได้
2. Shooting guard (SG)
Shooting guard เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ “ล่าแต้ม” ตำแหน่งของพวกเขาจะอยู่บริเวณกรอบ 3 แต้ม ผู้เล่นในตำแหน่งนี้จะมีทักษะการทำแต้มที่สูง ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงบอลทะลุทะลวง การชู้ตได้จากกรอบ 3 แต้ม ไปจนถึงการทำแต้มได้ในทุก ๆ พื้นที่ในสนาม ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ในฝันของผู้เล่นโดยส่วนมากเลยทีเดียว ทักษะที่ผู้เล่นตำแหน่งนี้ควรมี คือการชู้ตที่แม่นยำ เลี้ยงบอลได้ดี มีความเร็ว วิ่งทักษะทางด้านการวิ่งหาตำแหน่ง
3. Small Forward (SF)
ที่จริงบาสเกตบอลจะมี 3 ตำแหน่งหลัก คือ Center , Forward และ Guard ในตำแหน่ง “Small Forward” เหมือนเป็นลูกครึ่งระหว่าง Forward และ Guard ผู้ที่เล่นในตำแหน่งนี้จะต้องมีความสามารถที่ยืดหยุ่น เล่นได้ดีทั้งในด้านของวงนอก วงใน เล่นเกมรับได้ หน้าที่หลักคือการทำแต้มในบริเวณโซนระยะกลาง แต่ก็ขึ้นอยู่กับทักษะของผู้เล่นแต่ละคน บางคนสามารถชู้ต 3 แต้มได้แม่นยำ บ้างก็ช่วยทำแต้มวงในได้เก่ง ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องการทักษะสูงเลยทีเดียว
4. Power Forward (PF)
หาก Small Forward เป็นตำแหน่งลูกผสมระหว่าง Forward และ Guard ในตำแหน่ง “Power Forward” ก็จะเป็นลูกผสมระหว่าง Center และ Forward รับหน้าที่เล่นเกมวงใน อาจออกไปช่วยเกมในโซนระยะกลางบ้าง ในตำแหน่งนี้ต้องอาศัยแรงปะทะมากพอสมควร รูปร่างของผู้เล่นต้องสูงใหญ่ เนื่องจากต้องช่วยเกมรับมากเป็นพิเศษ เมื่อทีมตรงข้ามทำแต้มพลาด ควรช่วยทำหน้าที่รีบราวด์เก็บบอลกลับมาให้ได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการบุกให้กับทีม ในตอนเล่นเกมรุก ก็จะเป็นผู้เล่นที่ขยับในเขตวงใน หรืออาจเป็นตัวหลอกช่วยให้เพื่อน ๆ ก็ได้ในบางกรณี
5. Center (C)
เอาล่ะปิดท้ายกันที่ตำแหน่ง “บิ๊กเบิ้ม” อย่าง Center ตำแหน่งนี้ผู้เล่นควรมีร่างกายที่สูงใหญ่ และถ้าจะให้ดีต้องมีความกำยำ พละกำลังสูง เนื่องจากต้องปะทะกับผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกันตลอดทั้งเกม ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถตัดสินผลแพ้ชนะได้เลย เพราะการทำแต้มในพื้นที่ใต้แป้นโอกาสทำได้ค่อนข้างสูง ผนวกเข้ากับทักษะเกมรับที่ทำหน้าที่รีบราวด์เก็บบอลที่กระดอนจากการชู้ตพลาด คอยปิดกั้นโอกาสที่ทีมคู่แข่งจะทำแต้มบริเวณหน้าห่วง นับว่าเป็นตำแหน่งที่ทุก ๆ ทีมควรต้องมีเป็นที่สุด
บทส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับตำแหน่งของกีฬาบาสเกตบอล ในกีฬาประเภทนี้มีเสน่ห์อยู่หนึ่งอย่างก็คือ จะต้องเคลื่อนที่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็จะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ดังนั้นศักยภาพทางร่างกายต้องดี และตำแหน่งไม่ได้เจาะจงเอาไว้ว่าจะต้องเล่นครบทั้ง 5 ตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับเทคนิคการจัดทีมของแต่ละทีม เอาล่ะ ! ได้เวลาที่คุณจะให้คำตอบกับตัวเองแล้ว ว่าคุณเหมาะที่จะเล่นในตำแหน่งไหน ?