สำหรับการเล่นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่าง กีฬาบาสเกตบอล จะต้องใช้ทักษะทางด้านร่างกาย และความคิด นอกจากจะได้ประโยชน์ในด้านออกกำลังกายแล้ว ยังนับเป็น 1 ในกิจกรรมสุดสนุก ที่สามารถทำได้กับเพื่อนๆ อีกด้วย หากใครที่กำลังเริ่มเล่นกีฬาบาสเกตบอล ทักษะพื้นฐานที่ควรมีคือการเลี้ยงลูกบาสเพื่อความลื่นไหลในการเล่น
บทความนี้จะมาช่วยแนะนำ 7 วิธีเลี้ยงลูกบาสเกตบอลอย่างไรให้เหมือนมืออาชีพ
ความสำคัญของการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอล เป็นทักษะสำคัญในการพาบอลเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ของสนาม และยังต้องหลบหลีกผู้เล่นจากทีมฝั่งตรงข้ามที่จะมาแย่งลูกบาสจากเราไป หลักสำคัญในการเลี้ยงลูกบาสเกตบอลก็คือ ลูกบอลจะต้องกระทบพื้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อเป็นการประคองลูกบอลรอจังหวะในการยิง หรือส่งต่อให้กับเพื่อนร่วมทีมนั่นเอง การที่เรามีทักษะการเลี้ยงลูกที่แพรวพราวนั้น จะช่วยให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเล่นได้ยากขึ้น และทีมสามารถเดินเกมต่อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
7 เทคนิคการเลี้ยงลูกบาสให้ดูเหมือนมืออาชีพ
เทคนิคชั้นยอดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกบาสของเราดูแพรวพราวเหมือนมืออาชีพลงเล่นเอง สามารถฝึกตามได้ดังนี้
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลสูง (High Dribbling)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลสูง เป็นการเลี้ยงลูกที่เหมาะกับการใช้ในจังหวะที่มีพื้นที่กว้างพอที่จะเคลื่อนที่ไปยังด้านหน้าอย่างรวดเร็ว อาศัยความรวดเร็วในเป็นหลัก วิธีการฝึกมีดังนี้
- โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย มองจุดหมายด้านหน้าอย่างระมัดระวัง ศีรษะตั้งตรง
- บังคับลูกบาสเกตบอลด้วยปลายนิ้ว มือกางออก
- ผลักลูกบาสลงพื้นด้วยแรงให้อยู่ระดับเอว แต่ไม่เกินระดับอก
- เลื่อนมือไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อส่งบอลให้ไปด้านหน้า พร้อมกับเคลื่อนที่ไปตามบอล
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลต่ำ (Low Dribbling)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลต่ำ เป็นเทคนิคเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแย่งลูกบาสไป โดยจะใช้เทคนิคนี้ก็ต่อเมื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามอยู่ใกล้ชิดกับตัวเอง วิธีการฝึกมีดังนี้
- โน้มตัวไปข้างหน้า กางขาและย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อให้ตัวอยู่บริเวณข้างล่าง
- กดลูกบาสลงสู่พื้นด้วยมือข้างที่ถนัด โดยระวังไม่ให้ลูกกระเด้งสูงเกินเข่า ไปยังทิศทางที่ต้องการ
- ส่วนมืออีกข้างให้ทำการกางออก เพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้แย่งลูกได้
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลเปลี่ยนตำแหน่ง (The Change-of-Pace Dribble)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นการเลี้ยงลูกในแบบที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดการสับสนว่าเราจะเคลื่อนที่ไปทางไหน ตรงนี้เป็นเพียงแค่เทคนิคการหลอกล่อ จะไม่มีวิธีการให้ฝึกเป็นขั้นเป็นตอน โดยสามารถทำได้ด้วยการ ลด หรือเร่งจังหวะในการกระเด้งลูกบาส หรือจะเป็นในส่วนของการผลักบอลไปข้างหน้า หรือถอยหลัง แบบที่ไม่ให้ฝั่งตรงข้ามเดาทางออกก็เพียงพอ
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลสลับซ้าย และขวา (The Crossover Dribbling)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลสลับซ้าย และขวา เป็นการเลี้ยงลูกเพื่อไม่ให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามปัดลูกบาสได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากไม่ชำนาญก็อาจถูกปัดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นท่านี้ควรฝึกบ่อยๆ เพื่อให้สามารถควบคุมลูกได้ตามต้องการ โดยวิธีการฝึกมีดังนี้
- ย่อตัวลงเล็กน้อย
- เลี้ยงลูกบาสด้วยปลายนิ้วข้างที่ถนัด
- เมื่อผู้เล่นจากฝ่ายตรงข้ามเข้ามาใกล้ ให้ผลักลูกบาสไปยังฝั่งตรงข้ามทันทีด้วยการส่งแรงจากข้อมือไปยังปลายนิ้วมืออีกด้าน เพื่อประคองและเลี้ยงลูกบาสไว้
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลไขว้หลัง (The Behind-the-Back Dribble)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลไขว้หลัง เป็นการเลี้ยงลูกสลับไปมาด้านหลัง เพื่อให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเสียจังหวะในการแย่งชิงลูกบาส หากไม่เชี่ยวชาญอาจทำให้ลูกบาสหลุดมือได้ง่าย เพราะมองไม่เห็นลูกบาสนั่นเอง ดังนั้นต้องฝึกให้มั่นใจก่อนใช้ในการเล่นจริง สามารถฝึกได้ดังนี้
- โน้มตัวไปข้างหน้า ศีรษะตั้งตรงย่อตัวลงเล็กน้อย
- ใช้มือออกแรงผลักลูกบาสจากด้านนึง ไปยังอีกด้านนึงข้างหลัง
- โดยสามารถย้ายกลับมาด้านหน้า เมื่อมีจังหวะที่ดีในการเคลื่อนที่ต่อ เพราะท่านี้ทำให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ค่อนข้างลำบาก
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลลอดใต้ขา (The Between-the-Legs-Dribble)
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลลอดใต้ขา เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามแย่งชิงลูกในระยะประชิด แถมยังทำให้ทิศทางของฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนอีกด้วย และยังช่วยให้เรามีจังหวะในการทำแต้มได้ง่ายขึ้น วิธีการฝึกมีดังนี้
- กางขาออก และย่อตัวลงเล็กน้อย เพื่อให้มีพื้นที่ในการส่งบอลจากมือหนึ่ง ไปยังอีกมือหนึ่งผ่านทางใต้ขา
- ตามองไปยังจุดที่ต้องการเคลื่อนที่ โดยระมัดระวังผู้เล่นจากฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาประชิดตัว
- ใช้ปลายนิ้วมือกดลูกบาสให้ลอดใต้หว่างขาไปยังอีกฝั่ง
- เลี้ยงลูกบาสเกตบอลไว้เพื่อหาจังหวะในการเคลื่อนที่ไปยังจุดต่อไป
การหมุนตัวเลี้ยงลูกบาสเกตบอล (The Reverse Dribble)
การหมุนตัวเลี้ยงลูกบาสเกตบอล สามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนทิศทาง และหลีกเลี่ยงผู้เล่นฝั่งตรงข้ามที่จะเข้ามาแย่งบอล โดยสามารถฝึกได้ด้วยวิธีดังนี้
- ทำการผลักลูกบาสด้วยมือส่งจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
- หมุนตัวไปยังด้านที่ส่งบอลไปเพื่อคอยรับลูกบาส
- สามารถทำการหมุนตัวได้ทุกทิศทางตามจังหวะของผู้เล่นฝั่งตรงข้าม
หากฝึก 7 ท่าที่ว่ามาในบทความจนคล่องแคล่วแล้ว การลงสนามครั้งถัดไปของเราจะต้องทำให้เพื่อนร่วมทีม และผู้เล่นจากฝั่งตรงข้ามตะลึงในทักษะ และชั้นเชิงในการเลี้ยงลูกบอลของเราอย่างแน่นอน โดยถ้าเรายังไม่คล่อง หรือยังไม่มั่นใจ แนะนำว่าให้เลี้ยงลูกแบบธรรมดาตามความมั่นใจของเราไปก่อน เพื่อความแน่นอนในการเล่นนั่นเอง