สำหรับน้อง ๆ ที่อยู่ในวัยเรียน แล้วกำลังอยากเริ่มต้นเล่นบาสเกตบอล ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียน มักจะมีข้อครหากับกีฬาชนิดนี้อยู่พอสมควร อาจเป็นเพราะกีฬายอดนิยมในหมู่นักเรียนจะเป็น “ฟุตบอล” เสียส่วนใหญ่
ทำให้ในโรงเรียนขนาดกลางถึงเล็ก มักจะต้องแบ่งใช้สนามบาสเกตบอลร่วมกับกีฬาอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยครั้ง จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ในบทความนี้จะมาเล่าเรื่องราวที่ถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับการเล่นบาสเกตบอลมาฝาก
1. สนามบาสเล็กนิดเดียวไม่เห็นจะเหนื่อยอะไรเลย ?
นี่คือคำที่เรามักถูกถากถางจากเหล่านักฟุตบอลอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากสนามบาสมาตรฐานของเรามีระยะจากแป้นไปถึงอีกแป้นเพียง 28 เมตรเท่านั้น แตกต่างจากสนามฟุตบอลมาตรฐานที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร แต่หากวัดกันเรื่องความเหนื่อย บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เหนื่อยมาก เนื่องจากต้องขยับขึ้นลงอยู่ตลอด ระยะเวลาควอเตอร์ละ 10 นาที ถึง 4 ควอเตอร์ แต่เมื่อบอลตายก็จะหยุดเวลา ซึ่งนั่นทำให้จำเป็นต้องมีกฎที่สามารถเปลี่ยนลูกเล่นสำรองอย่างอิสระได้นั่นเอง
2. นักกีฬาบาสเกตบอลจะต้องมีรูปร่างสูงใหญ่เสมอ
ข้อนี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก เนื่องจากบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่แค่สูงใหญ่ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ก็ใช่ว่าผู้เล่นที่ตัวเล็กจะไม่สามารถเล่นเก่งได้ ขนาดในลีกการแข่งขันบาสเกตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง NBA ซึ่งผู้เล่นส่วนมากมักจะมีความสูงทะลุ 2 เมตร กันเกือบทั้งนั้น ผู้เล่นตัวที่มีความสูงในหลัก 180 จะถูกมองว่าตัวเล็กในทันที แต่กลับกัน “Muggsy Bogues” เป็นผู้เล่นในประวัติศาสตร์ที่ตัวเล็กที่สุด ด้วยความสูงประมาณ 170 เพียงเท่านั้น แถมเขายังเล่นได้ในระดับสูง โลดแล่นใน NBA มากกว่า 10 ปี นี่คงพิสูจน์ได้แล้ว ว่าแม้จะตัวเล็กก็สามารถเล่นบาสได้
3. กติกาของบาสเกตบอลไม่ยุ่งยาก
“กติกา” นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาแสนยุ่งยาก ของผู้ที่กำลังอยากเล่นบาสเกตบอล ยิ่งเป็นการเล่นอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ รับรองว่าปวดหัวกันเป็นแถบ ๆ แม้ว่าคนภายนอกจะมองว่าบาสแค่โยนลูกให้ลงห่วงก็พอแล้ว แต่ที่จริงกติกานั้นมียิบย่อยเยอะมาก ทั้งกติกาฝ่ายรุก กติกาฝ่ายรับ กติกาการครองบอล กติกาเรื่องของเวลา ถึงแม้นับแล้วรวม ๆ จะมีแค่ 13 ข้อก็ตาม แต่ทางด้านของการปฏิบัติจริงค่อนข้างยุ่งยากเลยทีเดียว ผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะใช้ร่างกายจดจำกติกาต่าง ๆ มากกว่าใช้สมอง แถมยังมีการเพิ่มกติกาใหม่ ๆ เข้ามาอยู่บ่อยครั้งอีกด้วย
4. กีฬาบาสเกตบอลในไทยยังไงก็ไปได้ไม่สุด
เป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการบาสเกตบอลในไทย แม้จะมีนักกีฬาที่มีฝีมือดี ๆ อยู่หลายคน แต่บาสเกตบอลในไทยยังไม่ได้รับการส่งเสริมมากเท่าไหร่ แต่ !! นั่นเป็นเพียงอดีตเท่านั้น ในตอนนี้บาสเกตบอลเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น มีจนถึงลีกการแข่งขันในระดับประเทศ เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล เมื่อมีการแข่งขันในระดับทีมชาติ ในโซนอาเซียน ทีมบาสทีมชาติไทยก็สามารถคว้าชัยมาได้หลายต่อหลายครั้ง จนในตอนนี้ประเทศไทยได้สร้างนักกีฬาบาสเกตบอลมืออาชีพ ส่งออกไปสู่ลีกบาสเกตบอลในต่างประเทศมาแล้วหลายต่อหลายคน
บทส่งท้าย
แม้จะเป็นกีฬาที่หาเพื่อนเล่นด้วยยากเสียหน่อย หากไม่ใช้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงโดยตรง แต่ผู้เขียนอยากเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กำลังอยากเริ่มต้นเล่นบาสเกตบอล ให้อย่าหยุดความฝันในสิ่งที่ตนเองชอบ บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่มอบมิตรภาพให้กับผู้เล่น เสริมสร้างทั้งในด้านของศักยภาพทางด้านร่างกาย ไปจนถึงการฝึกฝนทำงานร่วมกับผู้อื่น หมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าความฝันของคุณจะไปสุดที่ไหน แต่อย่างไรก็เป็นการเดินทางที่สนุกอย่างแน่นอน